วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

SWOT โรงเรียนธรรมราชศึกษา

SWOT โรงเรียนธรรมราชศึกษา

วิสัยทัศน์

นักเรียนเป็นผู้มีคุณธรรมนำความรู้มีความคิดสร้างสรรค์ก้าวทันสังคมโลกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมสืบสานวัฒนธรรมและร่วมนำพัฒนาชุมชน ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เป็นสถานที่เอื้อต่อการจัดการศึกษา พัฒนาระบบการบริหาร ครูมีทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีจรรยาบรรณและยึดมั่นในวิชาชีพอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์

เพื่อให้โรงเรียนธรรมราชศึกษา มีมาตรฐานในการบริหารงาน สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เป็นบุคคลที่มีคุณค่า รับผิดชอบต่อสังคม จึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนาดังนี้

1. มุ่งให้ผู้เรียนมีบุคลิกเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม สังคมยกย่องและให้การยอมรับ มีทักษะในการเรียนรู้ด้านวิชาการ สามารถสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน มีความสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมสืบสานวัฒนธรรม รู้จักดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีสุขภาพที่ดี ปลอดจากอบายมุขและสิ่งเสพติด

2. มุ่งพัฒนาระบบและบุคลากรฝ่ายบริหารให้เป็นระดับมืออาชีพ ให้บริการความรู้ การจัดสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่ผู้เรียน

3. มุ่งให้ครูได้รับการพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง มีความมั่นคงในอาชีพ และ

สามารถดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และเป็นบุคคลตัวอย่างด้านคุณธรรมได้

พันธกิจ

เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จึงได้กำหนดภาระหน้าที่ของโรงเรียนธรรมราชศึกษา ดังนี้

พันธกิจที่ 1 พัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้มีคุณธรรมและความรู้ด้าน

วิชาการ

พันธกิจที่ 2 พัฒนาการบริหารจัดการด้านบุคลากรและสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ

และต่อเนื่อง

สารและขอบข่ายของพันธกิจ

พันธกิจที่ 1 พัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้มีคุณธรรมและความรู้ด้าน

วิชาการ

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความสำคัญต่อผู้เรียนอย่างมาก ได้กำหนดไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

การพัฒนาและสนับสนุนนักเรียนโรงเรียนธรรมราชศึกษา มีปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินงานหลายประการ กล่าว คือ โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้บริหารระดับสูง และครูเป็นพระภิกษุในพระพุทธ ศาสนา มีความรู้ความสามารถในการแนะนำอบรมคุณธรรม นำนักเรียนลงสู่ภาคปฏิบัติในสถานการณ์จริง ประกอบกับนักเรียนส่วนส่วนมาเป็นนักเรียนบรรพชิตสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคมให้กับนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์ รัฐให้การอุดหนุนรายหัวแก่โรงเรียน โดยนักเรียนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าอื่น ๆ เป็นการเรียนฟรี โรงเรียนเปิดโอกาสให้มีหลักสูตรหลากหลาย ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ มีเทคโนโลยีทันสมัย มีความพร้อม ความสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความสมบูรณ์ ด้วยความใส่ใจในหน้าที่ เมื่อมีการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนในโรงเรียนธรรมราชศึกษาทั้งระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานพัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนในปัจจุบันมีข้อจำกัดบางประการ ทั้งในด้านกระบวนการบริหาร บุคลากร งบประมาณและการกำกับติดตาม กล่าวคือ สภาพสังคมปัจจุบันที่มีการส่งเสริมบริโภคด้านวัตถุนิยม เป็นสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ ทำให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญในด้านวัตถุมากกว่า ไม่เห็นความสำคัญด้านคุณธรรมจริยธรรม สังคมสิ่งแวดล้อมภายนอกโรงเรียนมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้เรียนมากว่าสังคมในโรงเรียน อีก ประการหนึ่ง ขาดการติดตามและรายงาน ครูขาดทักษะวิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดกิจกรรมนักเรียนยังไม่ทั่วถึง งบประมาณสนับสนุนมีจำกัด

ในการส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถพัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้มีคุณธรรมและความรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้สามารถดำเนินงานตามพันธกิจได้ จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อหาโอกาส อุปสรรค และจุดอ่อน จุดแข็งของโรงเรียนตามพันธกิจ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับพัฒนาและดำเนินงาน ดังนี้

แผนภูมิที่ 1 การวิเคราะห์สถานการณ์บนพันธกิจที่ 1 พัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้มีคุณธรรมและความรู้ด้านวิชาการ

SWOT

ภายใน(จุดอ่อน)

1. ต้องพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพด้านบริหารและด้านกิจการนักเรียน

2. วิธีการสอนต้องมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มากยิ่งขึ้น

3. ต้องให้บริการสื่อ อุปกรณ์และเทคโนโลยี อย่างทั่วถึง

4. บุคลากรทุกคนต้องใช้สื่ออุปกรณ์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิ ผลอย่างแท้จริง

5. จะต้องจัดกิจกรรมนักเรียนให้ได้อย่างทั่วถึง

6. ต้องเพิ่มห้องปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างเพียงพอ

ภายนอก (อุปสรรค)

1. หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามนโยบายอย่างแท้จริงเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย

2. ผู้เรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจนและมีปัญหาด้านพฤติกรรม

3. ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง ต้องทำงาน มีเวลาดูแลผู้เรียนน้อย

4. งบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอ

ภายใน(จุดแข็ง )

1. สามารถให้บริการหลากหลาย ตามศักยภาพของผู้เรียน

2. โรงเรียนตั้งอยู่ในวัด ผู้บริหารและครูส่วนหนึ่งเป็นบรรพชิต ให้การแนะนำอบรมด้านคุณธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. มีแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน ( โบราณสถานและนักท่องเที่ยว )

4. สามารถรับภาระและพัฒนาผู้เรียนกลุ่มศักยภาพจำกัดสู่มาตรฐาน(ปั้นดินเป็นดาว)

5. ผู้บริหารและครูใส่ใจและติดตามผู้เรียนอย่างจริงจัง

6. ผู้บริหารและครู ร้อยละ 40 เป็นศิษย์เก่า มีความรักและผูกพันกับสถาบัน

ภายนอก(โอกาส )

1. นักเรียนได้รับการอุดหนุนรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน

2. รัฐบาลให้งบสนับสนุนด้านอาคารเรียนและสื่ออุปกรณ์

3. มีทุนการศึกษาและทุนอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลน

4. มีเทคโนโลยีและสื่อการสอนมากขึ้น

5. มีมูลนิธิโรงเรียนและบุคคลภายนอกสนับสนุนทุนการศึกษา

6. มีเทคโนโลยีพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะให้ความรู้แก่ผู้เรียน

7. กลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาได้รวมตัวกันพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการวิเคราะห์สถานการณ์บนพันธกิจที่ 1 พัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนทั้งโดยตรง และโดยอ้อมให้มีคุณธรรมและความรู้ด้านวิชาการ ทำให้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและดำเนินงานตามพันธกิจได้ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์พัฒนาบริการการศึกษา : เร่งส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาโดยมีการเน้นทักษะการใช้ภาษาที่สองคือ ภาษา อังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน เพื่อให้ผู้เรียนใช้ประกอบอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งวิชาในกลุ่มสาระโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสื่อการสอนในการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสิทธิภาพการพัฒนาผู้เรียนที่มีศักยภาพจำกัดสู่มาตรฐานของประเทศและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

2. ยุทธศาสตร์ระดมทรัพยากร : เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านทุนการศึกษา เพื่อเอื้อต่อการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีการระดมทุนการศึกษาจากประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธา ศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไป รวมทั้งนำเทคโนโลยีพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ ทั้งนี้โรงเรียนต้องแสดงบทบาทและร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่น

พันธกิจที่ 2 พัฒนาการบริหารจัดการด้านบุคลากรและสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

การพัฒนาการบริหารจัดการด้านบุคลากรและสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องนั้น มีปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีคุณภาพหลายประการ กล่าวคือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้ทุกระดับทุกประเภท โดยรัฐให้การสนับสนุนด้านเงินอุดหนุนรายหัวและสื่ออุปกรณ์ตลอดจนถึงอาคารเรียน มีระบบประกันคุณภาพ มีองค์กรวิชาชีพครู การบริหารจัดการสถานศึกษาเอกชนจะมีอิสระและความคล่องตัว นอกจากนั้นครูเอาใจใส่และรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและให้ความร่วมมือด้านบริหาร สถานศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารได้รวดเร็วแต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อพัฒนาการบิหารจัดการด้านบุคลากรและสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องของโรงเรียนธรรมราชศึกษานั้น มีข้อจำกัดในการดำเนินการหลายประการ กล่าวคือ ผู้บริหารของโรงเรียนยังไม่เป็นผู้บริหารมืออาชีพ มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารทำให้การบริหารไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ครูบางส่วนยังมีความต้องการความมั่นคงในวิชาชีพสอบรับราชการ จึงมีการเปลี่ยนครูบ่อย ทำให้การพัฒนาครูไม่ต่อเนื่องและในการจัดการเรียนการสอนยังไม่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ขาดงบประมาณในด้านพัฒนาบุคลากรและสื่ออุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการมีจำนวนไม่เพียงพอ ขาดข้อมูลสารสนเทศที่ช่วยในการบริหารและตัดสินใจ นอกจากนั้น ในการบริหารสถานศึกษาโรงเรียนธรรมราชศึกษามีค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องค่าบริการสาธารณสุขและบริการเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ต้นทุนในการจัดการศึกษาสูง

ในการเสริมสร้างศักยภาพของโรงเรียนธรรมราชศึกษาให้สามารถดำเนินงานตามพันธกิจได้ จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อหาโอกาส อุปสรรค และจุดอ่อน จุดแข็งขององค์กร ตามพันธกิจเพื่อดำหนดยุทธศาสตร์สำหรับพัฒนาและดำเนินงาน ดังนี้

แผนภูมิที่ 2 การวิเคราะห์สถานการณ์บนพันธกิจที่ 2 พัฒนาการบริหารจัดการด้านบุคลากรและสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

SWOT

ภายใน (จุดอ่อน )

1. ยังขาดการวางแผนและติดตามพัฒนาอย่างเป็นระบบ

2. ต้องพัฒนาผู้บริหารให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

3. ครูบางส่วนยังไม่พอใจในความมั่นคงวิชาชีพ ทำให้มีการเปลี่ยนครูบ่อย

4. ครูขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

5. การเรียนการสอนเน้นต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมากยิ่งขึ้น

6. งบประมาณของโรงเรียนยังไม่เพียงพอ

7. บริเวณโรงเรียนมีเนื้อที่ไม่ชัดเจน ขาดพื้นที่ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติตามสภาพจริง

8. ห้องปฏิบัติการไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน

9. ขาดสื่อ อุปกรณ์ที่ทันสมัยเป็นจำนวนมาก

ภายนอก (อุปสรรค )

1. การอุดหนุนค่าใช้จ่ายของผู้เรียนรายบุคคลไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง

2. ผู้ปกครองมีรายได้น้อย นักเรียนมีฐานะยากจน และบางส่วนมีปัญหาทางพฤติกรรม

3. โรงเรียนไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้

4. นักเรียนบางส่วนมาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด เช่าที่พักไม่มีผู้ปกครองดูแล

5. ต้นทุนค่าบริการสาธารณสุข สาธารณูปโภคและค่าบริการ ICT สูง

6. ขาดผู้ประสานงานด้านระดมทุนการศึกษา

ภายนอก (โอกาส )

1. รัฐให้การอุดหนุนเงินรายหัวนักเรียนและสื่อ-อาคารเรียน

2. ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากทางวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

3. ศรัทธาประชาชน ศิษย์เก่าให้การสนับสนุนด้านทุนการศึกษาและอื่น ๆ

4. มีระบบประกันคุณภาพ

5. มีองค์กรที่แรกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านบริหารและวิชาการ คือ สมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา

ภายใน(จุดแข็ง )

1. โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดสำคัญทั้งโบราณสถานและประวัติศาสตร์

2. นักเรียนมีแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว

3. นักเรียนมีโอกาสใกล้ชิดพระพุทธศาสนาทั้งการปฏิบัติและสถานที่

4. ครูเอาใจใส่ รับผิดชอบและให้ความร่วมมือด้านบริหาร

จากการวิเคราะห์สถานการณ์บนพันธกิจที่ 2 พัฒนาการบริหารจัดการด้านบุคลากรและสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทำให้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและดำเนินงานตามพันธกิจได้ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพบุคลากร : เร่งพัฒนาผู้บริหารให้สู่ระดับมืออาชีพ บริหารด้วยหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ ความคุ้มค่า และพัฒนาครูสู่มาตรฐานวิชาชีพ มีจรรยาบรรณในวิชาชีพและเป็นบุคคลมีคุณธรรม เป็นตัวอย่างแก่ผู้เรียนได้ รวมทั้งเสริมขวัญและกำลังใจ

2. ยุทธศาสตร์เสริมสร้างการมีส่วนร่วม : เร่งจัดตั้งชมรมครูผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนธรรมราชศึกษา เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และศิษย์เก่ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โรงเรียนมุ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางบริการชุมชนและเป็นผู้นำชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ปรากฏ

3. ยุทธศาสตร์พัฒนาจุดเด่นของโรงเรียน : เร่งพัฒนาโรงเรียนธรรมราชศึกษาเป็นสถาน ศึกษาเข้าสู่ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและได้รับการประกันคุณภาพภายนอก เป็นสถานศึกษาส่งเสริมวิถีพุทธดีเด่น เป็นสถานศึกษาส่งเสริมด้านสุขภาพดีเด่น เป็นสถานศึกษาส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นดีเด่น และเป็นสถานศึกษาส่งเสริมการเรียนภาษาที่สองดีเด่น

เพื่อให้โรงเรียนมีแนวทางการจัดการศึกษาตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงได้กำหนดแผนงานไว้ แผนงานเพื่อการพัฒนาสำหรับเป็นกรอบในการดำเนินงานจัดการทำรายละเอียดของแผนงาน/โครงการ ดังนี้

พันธกิจที่ 1 พัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้มีคุณธรรมและความรู้ด้านวิชาการ

ยุทธศาสตร์พัฒนาบริการการศึกษา :

1. แผนงานส่งเสริมการบริการทางการศึกษา

2. แผนเสริมสร้างประสิทธิภาพการพัฒนาผู้เรียนที่มีศักยภาพจำกัดสู่มาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ระดมทรัพยากร :

1. แผนงานระดมทุนสนับสนุนการศึกษา

2. แผนงานประสานความร่วมมือนำเทคโนโลยีพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น

มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา

พันธกิจที่ 2 พัฒนาการบริหารจัดการด้านบุคลากรและสถานศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเป็น

ระบบและต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพบุคลากร :

1. แผนงานพัฒนาระบบบริหารงานและจัดการสถานศึกษา

ยุทธศาสตร์เสริมสร้างการมีส่วนร่วม

1. แผนเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ศิษย์เก่าและชุมชน

ยุทธศาสตร์พัฒนาจุดเด่นของโรงเรียน

1. แผนพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและการประกันคุณภาพ

ภายนอก

2. แผนพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธดีเด่น

3. แผนพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพดีเด่น

4. แผนพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นดีเด่น

5. แผนพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมการเรียนภาษาที่สองดีเด่น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น